ศิลปศึกษา

ความหมายและคุณค่าของศิลปะ

ความหมายของศิลปะ


1.       ศิลปะคือการเลียนแบบธรรมชาติ

2.       ศิลปะคือรูปทรง
3.       ศิลปะคือการแสดงออกซึ่งอารมณ์
4.       ศิลปะคือการแสดงออกทางความรู้สึก
คุณค่าและความหมายของศิลปะ  
            ศิลปะเป็นคำที่มีความหมายทั้งกว้างและจำเพาะเจาะจง ทั้งนี้ย่อมแล้วแต่ทัศนะของแต่ละคน
 แต่ละสมัยที่จะกำหนดแนวความคิดของศิลปะให้แตกต่างกันออกไป  หรือแล้วแต่ว่าจะมีใคร
 นำคำว่า "ศิลปะ" นี้ไปใช้ในแวดวงที่กว้างหรือจำกัดอย่างไร
            ศิลปะ เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น ในสมัยโบราณ นักปราชญ์ได้ให้ความหมายของศิลปะ (Art) ไว้ว่า ศิลปะ คือ สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น ไม่ได้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ   เพราะฉะนั้น   ต้นไม้ ภูเขา ทะเล น้ำตก ความงดงามต่าง  ๆ  ตามธรรมชาติจึงไม่เป็นศิลปะ  ดอกไม้ที่เห็นว่าสวยสดงดงามนักหนา   ก็ไม่ได้เป็นศิลปะเลย    ถ้าหากเรายึดถือตามความหมายนี้แล้ว      สิ่งที่มนุษย์สร้างสร้างขึ้นทั้งหลาย ก็ล้วนแล้วแต่เป็นศิลปะทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น   ภาพวาด  ภาพพิมพ์  งานปั้น  งานแกะสลัก    เสื้อผ้าอาภรณ์    เครื่องประดับที่อยู่อาศัย  ยานพาหนะ  เครื่องใช้สอย  ตลอดจนถึงอาวุธที่ใช้รบราฆ่าฟันกัน ก็ล้วนแต่เป็นศิลปะทั้งสิ้นไม่ว่ามนุษย์สร้างสิ่งที่ดีงาม เลิศหรูอลังการ   หรือน่าเกลียดน่าชังอย่างไรก็ตาม ล้วนแต่เป็นงานศิลปะอย่างนั้นหรือไม่ ?
            ศิลปะเป็นผลงานการสร้างสรรค์ในสมัยต่อมา มีผู้ให้ความหมายของศิลปะว่า ศิลปะเป็นผลงานการสร้างสรรค์  ซึ่งในความหมายนี้ เราต้องมาตีความหมายของคำว่า "การสร้างสรรค์" กันเสียก่อน   การสร้างสรรค์ หรือที่ภาษา อังกฤษเรียกว่า "Cerativeนั้น คือ    การทำให้เกิดบางสิ่งบางอย่างขึ้นมา    ซึ่งบางสิ่งบางอย่างนั้น ไม่เคยมีอยู่มาก่อน ทั้งที่เป็นผลิตผล หรือกระบวนการ  หรือความคิด  ดังนั้น สิ่งที่จะเป็นงานสร้างสรรค์ได้จะต้องเป็นประดิษฐ์กรรมใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนในโลก   หรือเป็นกระบวนการใหม่ ๆ ที่สร้างขึ้นมาเพื่อกระทำการบางสิ่งบางอย่างให้ประสบผลสำเร็จ     หรือเป็นการสร้างแนวคิดใหม่ที่จะนำไปสู่วิธีการใหม่ ๆ แนวคิดใหม่ ๆ  นี้เองที่เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างสรรค์ เพราะแนวคิดใหม่ จะนำไปสู่การพัฒนากระบวนการ หรือวิธีการใหม่ ๆ ที่จะนำไปสู่ผลผลิตหรือประดิษฐ์กรรมใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นมาในโลก และตอบสนองความต้องการในด้านต่าง ๆ ของมนุษย์ได้  เพื่อแทนที่ผลผลิต หรือประดิษฐ์กรรมเดิม ที่ตอบสนองได้ไม่พอเพียง หรือไม่เป็นที่พอใจ  การสร้างสรรค์ในอีกความหมายหนึ่งจึงเกิดขึ้น คือ เป็นการทำให้ดีขึ้นกว่าเดิม ซึ่งมีหลาย ๆ วิธี โดยอาจเป็นการปรับปรุงกระบวนการใหม่ ให้ได้ผลผลิตมากกว่าเดิม หรือเป็นการปรับปรุงรูปแบบผลผลิตใหม่ โดยใช้วิธีการเดิม แต่ผลผลิตมีคุณภาพมากขึ้น แต่ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใด ๆ ก็ตาม เป็นการกระทำให้เกิดขึ้นจากการใช้แนวคิดแบบใหม่ ๆ ทั้งสิ้น และเป็นผลของวิธีการคิดที่เรียกว่า "ความคิดสร้างสรรค์"
            ความคิดสร้างสรรค์เป็นสิ่งที่อยู่ในมนุษย์ทุกคน และสามารถพัฒนาให้เกิดขึ้นได้โดยอาศัยสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมและบรรยากาศที่เอื้ออำนวย  ความคิดสร้างสรรค์เป็นความคิดที่เกี่ยวข้องกับงานศิลปะอย่างแยกกันไม่ออก หรืออาจกล่าวได้ว่า ศิลปะเป็นผลงานจากความคิดสร้างสรรค์
            ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า   ศิลปะเป็นผลจากความคิดสร้างสรรค์ ดังนั้น  สิ่งใดก็ตามที่มีความคิดสร้างสรรค์ ก็สามารถสร้างงานศิลปะได้    จากตอนต้นที่กล่าวว่า    ศิลปะเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น แสดงว่ามนุษย์เป็นผู้มีความคิดสร้างสรรค์  และสามารถสร้างงานศิลปะได้ แต่นอกเหนือจากมนุษย์แล้วจะยังมีสิ่งอื่น ๆ อีกหรือไม่ที่มีความคิดสร้างสรรค์    จากประวัติศาสตร์ของมนุษย์    และการศึกษา ค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ เราจะพบว่าสัตว์โลกหลาย ๆ ชนิดมีความคิด รู้จักความรักและมีสัญชาตญาณ แต่สิ่งเหล่านั้นจะจัดเป็นความคิดสร้างสรรค์หรือไม่  สัตว์ทั้งหลายสามารถสร้างหรือกระทำสิ่งใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการได้ดีกว่าเดิมหรือไม่  รู้จักพัฒนาแนวคิด   กระบวนการ และผลผลิตให้ดีกว่าเดิมหรือไม่
                หากเราจะเปรียบเทียบย้อนหลังไปเมื่อหลายหมื่น- แสนปีก่อนหน้านี้เมื่อมนุษย์ยังอยู่ในถ้ำ ยังไม่สรวมเสื้อผ้า เก็บผลไม้กินหรือไล่จับสัตว์กินเป็นอาหารซึ่งมีชีวิตไม่ต่างจากสัตว์ทั้งหลายในทุกวันนี้  แต่ปัจจุบันมนุษย์มนุษย์มีบ้านอยู่สบาย  มีเครื่องแต่งกายสวยงาม  มีสิ่งอำนวยความสะดวก
  มาก มาย สามารถไปได้ทั้งบนน้ำ ในน้ำ ในอากาศและอวกาศ  มีเมือง  มีระบบสังคม   มีระเบียบปฏิบัติร่วม กัน มีกระบวนการพัฒนามนุษย์ที่จะสืบทอดดำรงเผ่าพันธุ์ต่อไป  มีจริยศาสตร์  มีศาสนาและพิธีกรรม  มีรูปแบบการดำรงชีวิตที่แตกต่างกันอย่างหลกาหลาย กระจายไปทั่วโลก  ขณะที่สัตว์โลกอื่น ๆ   ยังคงดำรงชีวิตอยู่เดิม ๆ ที่มีการเปลี่ยนแปลงน้อยมาก ข้อแตกต่างนี้ บางทีอาจเป็นสิ่ง
  พิสูจน์ได้ว่า  มนุษย์ เป็นผู้มีความคิดสร้างสรรค์ เพียงหนึ่งเดียวบนโลกนี้ ดังนั้นศิลปะจึงเป็นเรื่องของมนุษย์   สร้างขึ้น โดยมนุษย์ และเพื่อมนุษย์เท่านั้น
            จากข้อความข้างต้นที่กล่าวมา เราอาจสรุปได้ว่า  ศิลปะเป็นสิ่งที่เกิดจากการสร้างสรรค์ของมนุษย์ซึ่งในความหมายเช่นนี้ แสดงว่า สิ่งต่าง ๆ ที่มนุษย์คิดค้นกระทำขึ้นมาที่เป็นการกระทำใหม่ ๆ
 หรือเป็นการกระทำสิ่งต่าง ๆให้ดีขึ้นกว่าเดิมล้วนแต่เป็นงานศิลปะทั้งสิ้น อย่างนั้นหรือไม่ ถ้าเป็น อย่างนั้น แนวคิดใหม่ ๆ วิธีการใหม่ ๆ ประดิษฐ์กรรมใหม่ ๆ ความเชื่อใหม่ ๆ  ศาสนาใหม่ ๆ  ตลอด จนถึงการดำรงชีวิตแบบใหม่ อาวุธใหม่ ๆ การสร้างความหายนะให้กับผู้อื่นด้วยวิธีการใหม่ ๆ ก็เป็น ศิลปะอย่างนั้นหรือ การทำลายล้างด้วยอาวุธใหม่ ๆ รวดเร็ว รุนแรง  สร้างความเสียหายใหญ่หลวง จะถูกยกย่องว่าเป็นผลงานศิลปะชั้นเยี่ยมหรือไม่   
    ศิลปะคือความงาม
            เมื่อเราพูดถึง ศิลปะ เรามักจะหมายถึง ความงาม แต่ความงามในที่นี้เป็นเรื่องของคุณค่า (Value) ที่เป็นคุณค่าทางสุนทรียะ  แตกต่างจากคุณค่าทางเศรษฐกิจ ที่เป็นราคาของวัตถุ  แต่เป็นคุณค่าต่อจิตใจความงามเกิดขึ้นด้วยอารมณ์ มิใช่ด้วยเหตุผล   ความคิด หรือข้อเท็จจริง  คนที่เคร่งครัดต่อเหตุผลหรือเพ่งเล็งไปที่คุณค่าทางวัตถุจะไม่เห็นความงาม คนที่มีอารมณ์ละเอียดอ่อนไหว จะสัมผัสความงามได้ง่ายและรับได้มาก  ความงามให้ความยินดี ให้ความพอใจได้ทันทีโดยไม่ต้องมีเหตุผล  ความยินดีนั้นเกิดขึ้นเองโดยไม่มีการบังคับ  ความงามนั้นเกี่ยวข้องกับวัตถุก็จริง  แต่มิได้เริ่มที่วัตถุ  มันเริ่มที่อารมณ์ของคน ดังนั้น ความงามจึงเป็นอารมณ์  เป็นสุขารมณ์หรือเป็นอารมณ์ที่ก่อให้เกิดความสุข  เป็น1 ใน 3 สิ่งที่ก่อให้เกิดความสุขกับมนุษย์ ซึ่งได้แก่  ความดี  ความงาม  และความจริง ผู้ที่ยอมรับและเห็นในคุณค่าของทั้งสามสิ่งนี้ จะเป็นผู้มีความสุข  เนื่องจากความงามเป็นอารมณ์   เป็นสิ่งที่อยู่ในความรู้สึก นึกคิด ความงามจึงเป็นนามธรรม  ดังนั้น  การสร้างสรรค์งานศิลปะ  ก็เป็นการถ่ายทอดความงามผ่าน สื่อวัสดุต่าง ๆ ออกมา เพื่อให้ผู้อื่นได้สัมผัส ได้พบเห็น  ได้รับรู้    สื่อต่าง ๆ จะเป็นตัวกระตุ้นให้ผู้ชมเกิดอารมณ์ทางความงามที่แตกต่างกันตามค่านิยมของแต่ละบุคคล   ความงามไม่ใช่ศิลปะ เนื่องจากว่าความงามไม่จำเป็นต้องเกิดจากสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น ในธรรมชาติก็มีความงามเช่นกัน เช่น  บรรยากาศขณะที่พระอาทิตย์ขึ้น หรือตกดิน  ความสวยงามสดชื่นของดอกไม้  ทิวทัศน์ธรรมชาติต่าง ๆ   เป็นต้น     งานศิลปะที่ดีจะให้ความพึงพอใจในความงามแก่ผู้ชมในขั้นแรก      และจะให้ความสะเทือนใจที่คลี่คลายกว้างขวางยิ่งขึ้นด้วยอารมณ์ทางสุนทรียะของผลงานศิลปะนั้นในขั้นต่อไป     ความงามในงาน
ศิลปะออกเป็น 2 ประเภท คือ
            1 ความงามทางกาย (Physical Beauty) เป็นความงามของรูปทรงที่กำหนดเรื่องราว หรือเกิดจากการประสานกลมกลืนกันของทัศนธาตุ เป็นผลจากการจัดองค์ประกอบทางศิลปะ
            2  ความงามทางใจ (Moral  Beauty) ได้แก่ ความรู้สึก หรืออารมณ์ที่แสดงออกมาจากงานศิลปะหรือ ที่ผู้ชมสัมผัสได้จากงานศิลปะนั้น ๆ
            ในงานศิลปะชิ้นหนึ่ง ๆ มีความงามทั้ง 2 ประเภทอยู่ร่วมกันแต่อาจแสดงออกอย่างใดอย่างหนึ่ง  มากน้อยขึ้นอยู่กับประเภทของงาน  เจตนาของผู้สร้างและการรับรู้ของผู้ชมด้วย      
            ความงามในศิลปะ เป็นการสร้างสรรค์ล้วน ๆ ไม่เกี่ยวข้องกับความงามวัตถุในธรรมชาติ  เป็นความงามที่แสดงออกได้แม้ในสิ่งที่น่าเกลียด หัวข้อ  เรื่องราว   หรือเนื้อหาที่ใช้สร้างงานนั้นอาจน่าเกลียด   แต่เมื่อเสร็จแล้ว ก็ยังปรากฎความงามที่เกิดจากอารมณ์ที่ศิลปินแสดงออก   ดังนั้น ความงามจึงเป็นศาสตร์อย่างหนึ่ง ที่ว่าด้วยความงามที่ศิลปินแสดงออกในงานศิลปะซึ่งเรียกว่า  "สุนทรียศาสตร์"  มีข้อความที่ใช้กัน มาตั้งแต่สมัยเรอเนซองค์จนถึงทุกวันนี้ว่า"ศิลปะมิได้จำลองความงาม  แต่สร้างความงามขึ้น"
            ดังนั้น  จึงอาจสรุปได้ว่า "ศิลปะเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นจากความคิดสร้างสรรค์เพื่อให้เกิดความงาม และความพึงพอใจ"ที่มนุษย์ได้สร้างสรรค์สืบเนื่องกันมาตั้งแต่อดีตอันยาวนานจนถึงปัจจุบัน  และจะสร้างสรรค์สืบต่อไปในอนาคตให้อยู่คู่กับเผ่าพันธุ์มนุษย์ไปตราบนานเท่านาน โดยมีการสร้างสรรค์ พัฒนารูปแบบต่าง ๆ ออกไปอย่างมากมายไม่มีที่สิ้นสุด
        ศิลปะในความหมายต่าง ๆ
             ศิลปะ แต่เดิมหมายถึง งานช่างฝีมือ เป็นงานที่มนุษย์ใช้สติปัญญาสร้างสรรค์ขึ้นด้วย ความประณีตวิจิตรบรรจง  ฉะนั้น    งานศิลปะจึงไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่เป็น ผลงานที่มนุษย์ใช้ปัญญาความศรัทธา และความพากเพียรพยายามสร้างสรรค์ขึ้นมาใหม่
            คำว่า Art  ตามแนวสากลนั้น มาจากคำ  Arti  และ  Arte  ซึ่งเริ่มใช้ในสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา   ความหมายของคำ Arti นั้น หมายถึงกลุ่มช่างฝีมือในศตวรรษที่ 14 , 15 และ 16   คำ Arte  มีความหมายถึงฝีมือ ซึ่งรวมถึงความรู้ของการใช้วัสดุของศิลปิน ด้วย เช่นการ การผสมสี ลงพื้นสำหรับการเขียนภาพสีน้ำมัน  หรือการเตรียมและการใช้วัสดุอื่นอีก  การจำกัดความให้แน่นอนลงไปว่าศิลปะคืออะไรนั้น เป็นเรื่องยาก เพราะว่า ศิลปะเป็นงานสร้างสรรค์  ศิลปินมีหน้าที่ สร้างงานที่มีแนวคิดและรูปแบบแปลกใหม่อยู่ตลอดเวลา   ทฤษฎีศิลปะในสมัยหนึ่งอาจ  ขัดแย้งกับของอีกสมัยหนึ่งอย่างตรงกันข้ามและทฤษฎีเหล่านั้นก็ล้วนเกิดขึ้นภายหลังผลงานสร้างสรรค์ที่เปลี่ยนแปลงและก้าวล้ำหน้าไปก่อนแล้วทั้งสิ้น  อย่างไรก็ตาม ทัศนะเกี่ยวกับ  ความหมายของศิลปะได้ถูกกำหนดตามการรับรู้ และตามแนวคิดต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง  โดย บุคคลต่าง ๆ ซึ่งพอยกตัวอย่างได้ดังนี้ 
ศิลปะ คือ ผลแห่งความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ที่แสดงออกมาในรูปลักษณ์ต่าง ๆ ให้ปรากฏซึ่ง  สุนทรียภาพ ความประทับใจ หรือความสะเทือนอารมณ์ ความอัจฉริยภาพ พุทธิปัญญา ประสบการณ์  รสนิยมและทักษะของแต่ละคน เพื่อความพอใจ  ความรื่นรมย์  ขนบธรรมเนียม  จารีตประเพณีหรือ  ความเชื่อทางศาสนา  ( พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน2530 ) 
ศิลปะ คือ ผลงานการสร้างสรรค์รูปลักษณ์แห่งความพึงพอใจขึ้นมา และรูปลักษณ์ก่อให้เกิดอารมณ์  รู้สึกในความงาม  อารมณ์รู้สึกในความงามนั้นจะเป็นที่พึงพอใจได้ก็ต่อเมื่อ ประสาทสัมผัสของเรา  ชื่นชมในเอกภาพ หรือความประสมกลมกลืนกันในความสัมพันธ์อันมีระเบียบแบบแผน  ( Herbert Read, 1959) 
ศิลปะ คือ สิ่งที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้น เพื่อแสดงออกซึ่งอารมณ์  ความรู้สึก สติปัญญา  ความคิด และ/ หรือความงาม  ชลูด  นิ่มเสมอ, 2534 ) 
ศิลปะ เป็นผลงานที่เกิดจากการแสดงออกของอารมณ์ ปัญญา และทัศนคติ  รวมทั้งทักษะความชำนิ ชำนาญของมนุษย์  การสร้างสรรค์งานศิลปะในปัจจุบันมีแนวโน้มไปในทางการสร้างสรรค์ และการแสดงออกของอารมณ์และความคิด  ดังนั้น งานศิลปะนั้นอย่างน้อยที่สุดควรก่อให้เกิดอารมณ์ และ ความคิดสร้างสรรค์ กล่าวคือ เป็นงานที่สื่อให้ผู้ชมเกิดจินตนาการ นอกจากนั้น งานศิลปะที่ดีควรจะมีคุณค่าทางความงามซึ่งเกิดจากการใช้องค์ประกอบของสุนทรียภาพ

ประเภทของงานศิลป์

1.       วิจิตรศิลป์  (Fine  Arts)
คือ  ศิลปะที่งดงามหรืองานสร้างสรรค์ของมนุษย์เพื่อตอบสนองทางด้านอารมณ์และจิตใจเป็นสำคัญ
ประกอบด้วย  6  สาขา  คือ
1.1      จิตรกรรม  (Painting)
1.2      ประติมากรรม  (Sculpture)
1.3      สถาปัตยกรรม  (Architecture)
1.4      วรรณกรรม  (Literature)
1.5      ดุริยางคศิลป์  หรือดนตรี  (Musical  Arts)
1.6      นาฏศิลป์  การละคร  การเต้นรำ  ภาพยนตร์  (Performing Arts)
2.       ประยุกต์ศิลป์  (Applied  Arts)
คือ  งานสร้างสรรค์ที่สร้างขึ้นโดยมีจุดมุ่งหมายแสดงความงดงามร่วมกับประโยชน์ทางการใช้สอย  เพื่อสนองตอบความต้องการทางด้านร่างกายของมนุษย์  เช่น
2.1      ออกแบบนิเทศศิลป์  (Communication  Art)
2.2      อุตสาหกรรมศิลป์  (Commercial  Art)
2.3      มัณฑณศิลป์  (Decorative  Art)
2.4      ออกแบบบรรจุภัณฑ์  (Product  Design)
2.5      ออกแบบเครื่องประดับ  (Jewelry  Design)
ฯลฯ

สิ่งบันดาลใจให้เกิดงานศิลปะ

1.       แรงบันดาลใจจากความงามของธรรมชาติ
2.       แรงบันดาลใจจากความเชื่อความศรัทธาในอำนาจเหนือมนุษย์
3.       แรงบันดาลใจจากอารมณ์สะเทือนใจของมนุษย์

ความสัมพันธ์ของศิลปะ

            งานศิลปะทุกแขนงล้วนเอื้ออำนวยประโยชน์ซึ่งกันและกันและทำให้เกิดความเข้าใจมากยิ่งขึ้น  เช่น  ถ้าฟังดนตรี  โดยมีนาฏศิลป์ วรรณกรรม  จิตรกรรมประกอบ  จะช่วยให้เข้าใจได้มากยิ่งขึ้น  ในทำนองเดียวกัน  เมื่อชมการแสดง  โดยมีดนตรี  มีฉากประกอบ  ก็จะทำให้ซาบซึ้งมากยิ่งขึ้น  เป็นต้น

จุดมุ่งหมายของศิลปะ

            จุดมุ่งหมายสำคัญของการศึกษาศิลปะประการหนึ่ง  คือ  การพัฒนาให้ผู้เรียนเกิดความซาบซึ้งในงานศิลปะทุกแขนงไม่ว่าจะเป็นทัศนศิลป์  ดุริยางคศิลป์  หรือนาฏศิลป์  สุนทรียศาสตร์เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับความซาบซึ้งในงานศิลปะแขนงต่าง ๆ ซึ่งสุนทรียศาสตร์เป็นปรัชญาสาขาหนึ่งที่ว่าด้วยเรื่องของคุณค่า  ดังนั้นสุนทรียศาสตร์จึงเป็นเรื่องของคุณค่าที่ได้รับจากความงามซึ่งเป็นผลงานทางศิลปะ สุนทรียศาสตร์เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์และปรัชญาสุนทรียศาสตร์  ในแง่ของวิทยาศาสตร์ศึกษาเกี่ยวกับปัจจัยต่าง ๆ ที่มีอิทธิพลต่อการรับรู้เกี่ยวกับเรื่องของความสวยความงาม  ส่วนสุนทรียศาสตร์ในแง่ของปรัชญา  ศึกษาเกี่ยวกับธรรมชาติของความสวยความงาม  รศ.ดร.ณรุทธ์  สุทธิจิตต์  ได้ให้แนวความคิดเรื่องของความสวยความงาม  กล่าวคือ  ศึกษาถึงธรรมชาติของสุนทรียวัตถุ  (Aesthetic Object)  สุนทรียประสบการณ์  (Aesthetic  Experience)  และสุนทรียซาบซึ้ง (Aesthetic  Appreciation)
            จะเห็นได้ว่า  สุนทรียประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจากกระบวนการทางปัญญาเชิงคุณภาพ  ไม่จำเป็นต้องเป็นสุนทรียซาบซึ้ง  แต่ทุกประสบการณ์ที่เป็นสุนทรียซาบซึ้งจะเป็นสุนทรียประสบการณ์
            กล่าวโดยสรุปได้ว่า  สุนทรียภาพจะเกิดขึ้นได้เนื่องจากผู้นั้นได้สัมผัสกับสุนทรียวัตถุ  โดยกระบวนการทางปัญญาเชิงคุณภาพ  เมื่อมีผู้นำเอาการประเมินคุณค่ามาเกี่ยวข้องด้วย  ก็จะนำไปสู่ความซาบซึ้งอันเนื่องมาจากสุนทรียประสบการณ์นั้น  สุนทรียประสบการณ์ซึ่งเกี่ยวข้องกับสุนทรียวัตถุ  ผู้รับรู้ประสบการณ์และประสบการณ์ที่เกิดขึ้น  เนื่องจากการรับรู้สุนทรียวัตถุของ     ผู้นั้น  สุนทรียวัตถุคืองานศิลปะที่มีคุณลักษณะต่าง ๆ ครบถ้วน  เป็นที่ยอมรับว่ามีคุณค่า  ผู้รับประสบการณ์คือผู้ที่รับรู้ผลงานศิลปะนั้น ๆ และประสบการณ์คือ  กิจกรรมที่ทำให้ผู้รับประสบการณ์เกิดความเข้าใจและซาบซึ้งในงานศิลปะนั้น ๆ ในการทำความเข้าใจให้ผู้ที่ศึกษาหรือชื่นชมกับผลงานทางศิลปะทุกประเภทจะต้องพิจารณาถึง  การเลือกผลงานศิลปะที่มีคุณค่า  งานศิลปะทุกชนิดมีคุณค่าทั้งสิ้น  แต่บางอย่างให้คุณค่าทางประโยชน์ใช้สอย  บางอย่างให้คุณค่าทางความงาม  ซึ่งผู้ที่ชื่นชมในผลงานทางศิลปะจะต้องมีความรู้ความสามารถในการเลือกบริโภคผลงานศิลปะให้ถูกต้องและเหมาะสมกับความต้องการ
คุณค่าของงานศิลปะ
            “ไทเลอร์”  นักพัฒนาหลักสูตรที่มีชื่อเสียง  ได้เขียนเรื่องความสำคัญของการศึกษาวิชาศิลปะไว้ในหนังสือชื่อ  “Basic  Principle  of Curriculum  and  Instruction”  ว่า  ศิลปะมีความสำคัญ  5  ประการ  คือ
1.       ศิลปะช่วยขยายขอบเขตของการรับรู้ของผู้เรียนทางด้านการใช้ประสาทสัมผัส  โดยศิลปะช่วยให้คนเรามองเห็นสิ่งต่าง ๆ ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น  เพราะเป็นการมองด้วยการสังเกต  เปรียบเหมือนศิลปินมองสิ่งที่เห็นและเก็บรายละเอียดจากสิ่งที่เห็นแล้วนำไปถ่ายทอดเป็นงานศิลปะ
2.       ศิลปะสามารถทำให้ความคิดและความรู้สึกกระจ่างแจ่มชัดออกมา  โดยอาศัยสื่ออย่างอื่นเพิ่มเติมนอกเหนือจากคำพูดจะเห็นได้ว่ามีนักเรียนจำนวนไม่น้อย  ที่สามารถแสดงออกทางศิลปะได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าการเขียนหรือการพูด
3.       ศิลปะช่วยทำให้คนมีความเป็นคนสมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น  กล่าวคือ  ศิลปะช่วยให้เกิดความรู้สึกผ่อนคลายความเครียดต่าง ๆ ทางอารมณ์ที่สะสมอยู่ในตัว  โดยอาศัยการแสดงออกด้วยการทำกิจกรรมศิลปะต่าง ๆ เช่นการสร้างงานศิลปะในสตูดิโอ  การทำงานศิลปะแล้วนำไปใช้ในชีวิตประจำวันให้เกิดประโยชน์ใช้สอย  เช่น  การตกแต่ง  หรือแม้แต่การแสดงออกทางการร้องเพลง  เต้นนำ  เล่นดนตรี  สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ถือว่าเป็นสิ่งที่ช่วยให้คนเราได้แสดงออกทำให้เกิดความสนุกสนานเพลิดเพลิน  ช่วยผ่อนคลายความเครียด  เป็นการช่วยส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนเป็นคนที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
4.       ศิลปะช่วยพัฒนาความสนใจและค่านิยมต่าง ๆ ของเด็กและเยาวชน  การแสดงออกทางศิลปะในรูปแบบต่าง   ๆ ถือว่าเป็นพื้นฐานที่จะเอื้ออำนวยให้ผู้เรียน  เกิดความสนใจและช่วยพัฒนาความเข้าใจในศิลปะต่าง ๆ ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
5.       ศิลปะเป็นวิชาที่ช่วยพัฒนาความสามารถทางเทคนิคได้ เช่น  กระบวนการจำทำให้เกิดทักษะในการระบายสี  การวาดภาพคน การเล่นเครื่องดนตรีชนิดต่าง ๆ เป็นต้น
จอห์น  ดิวอี้  นักการศึกษาและผู้อำนวยการฝ่ายการศึกษาของมูลนิธิบารนส์  (Educational  Director  of  the  barnes  Foundation)  มูลนิธิบารนส์ก่อตั้งโดย  Mr.Albert  C.  Barnes  นักสะสมศิลปวัตถุคนสำคัญของโลก มูลนิธิดังกล่าวได้ออกวารสารทางด้านศิลปะและสุนทรียศาสตร์อย่างต่อเนื่อง  โดยมีดิวอี้เป็นบรรณาธิการวารสาร  ต่อมาดิวอี้ได้เขียนหนังสือเรื่อง “Art  as  Experience”  (.. 1979)  ขึ้น ในข้อเขียนของเขาได้ชี้ให้เห็นถึงการพัฒนาสุนทรียภาพโดยผ่านประสบการณ์ทาง ศิลปะเป็นสิ่งจำเป็นที่เสริมสร้างสติปัญญาให้แก่ชีวิตสติปัญญาไม่ได้มาจาก การเรียนอะไร  จากสิ่งภายนอกเพียงอย่างเดียว  แต่มาจากการเข้าถึงศิลปะของแต่ละบุคคลด้วย  นอกจากนี้ดิวอี้ยังเชื่อว่าศิลปะบอกให้เราทราบถึงสภาวะของชีวิตและอารยธรรมของคนในชาติต่าง ๆ ที่มีวิวัฒนาการต่อเนื่องกันมาในรูปแบบต่าง ๆ ศิลปะจึงเป็นแกนกลางหรือเป็นสื่อสำคัญในการประสานให้เกิดความงามและความกลมเกลียวในสังคม  ดังนั้น  ประเพณีและพฤติกรรมของคนในสังคมจึงมุ่งไปสู่การพัฒนาสุนทรียภาพ  ดิวอี้ให้ข้อสังเกตว่าการที่เราไม่สามารถจะวิเคราะห์ธาตุแท้ของสุทรียธาตุในศิลปะได้  เป็นเพราะว่าเราขาดการสัมผัสหรือขาดประสบการณ์ที่ต่อสิ่งต่าง ๆ อย่างแท้จริง  โดยเฉพาะภูมิหลังและสิ่งแวดล้อมของเรา  ดังนั้นเราจึงต้องตื่นตัวให้ทันกับเหตุการณ์  และสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัวเราเสมอ  โดยสรุปแล้ว  ดิวอี้เชื่อว่าศิลปะคือประสบการณ์ที่ส่งเสริมสมรรถภาพ  ทางด้านสุนทรียภาพของมนุษย์  และศิลปะไม่สามารถแยกออกไปจากประสบการณ์ชีวิตของมนุษย์ ได้
ความเป็นมาของศิลปะและการสร้างสรรค์   
            มนุษย์มีความปรารถนาในสิ่งต่าง ๆ ไม่มีที่สิ้นสุด  มีความต้องการที่จะได้รับความสุขทางกาย สบายทางใจมักไม่ค่อยพอใจในสิ่งที่มีอยู่    ชอบแสวงหาสิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ  เมื่อพิจารณาย้อนหลังไปยังอดีตกาลมนุษย์มีความเป็นอยู่อย่างง่าย ๆ และสร้างสิ่งต่าง ๆ  ขึ้นมาเพื่อใช้สอยด้วยความจำเป็น  
ต่อมา มนุษย์ได้ใช้สติปัญญาที่มีอยู่เหนือสัตว์ทั้งปวงสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการพื้นฐานในการดำรงชีพ   การต่อสู้กับสิ่งต่าง ๆ เพื่อความอยู่รอด และความสะดวกสบายในการดำรงชีวิตจนเกิดเป็นสิ่งต่าง ๆ ที่เราสัมผัสได้ในสมัยปัจจุบัน
            จุดเริ่มต้นของศิลปะ คือ การที่มนุษย์ต้องประดิษฐ์และสร้างสรรค์สิ่งอำนวยความสะดวก    และเพื่อความเป็นอยู่ที่ปลอดภัย สำหรับการดำรงชีพและความอยู่รอด ได้แก่ ที่พักอาศัยอย่างง่าย ๆ   อาวุธที่สร้างขึ้นอย่างหยาบ ๆ  สร้างภาชนะที่ทำจากเครื่องปั้นดินเผาอย่างง่าย ๆ  ล้วนเป็นการใช้ความคิดสร้างสรรค์เพื่อแก้ปัญหา และตอบสนองความต้องการของมนุษย์ในการดำรงชีวิต  ซึ่งเป็นไปในลักษณะที่แตกต่างจากธรรมชาติ  ในระยะต่อมา เมื่อมนุษย์ได้สัมผัสกับปรากฏการณ์ธรรมชาติ   ซึ่งบางเหตุการณ์เป็นสิ่งที่เหนือคำอธิบายได้ในยุคนั้น  ด้วยความเกรงกลัวในอิทธิฤทธิ์อำนาจของสิ่งที่อยู่เหนือธรรมชาติ จึงได้เกิดพิธีกรรมต่าง ๆ พัฒนามาเป็นลัทธิ ความเชื่อ จนกลายเป็นศาสนาในปัจจุบัน  ศิลปะจึงได้ถูกสร้างสรรค์ขึ้นเพื่อประกอบในพิธีกรรมต่าง ๆ เหล่านี้ด้วย  การสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ เป็นรากฐานและแรงบันดาลใจให้มนุษย์ในสมัยต่อ ๆ มา  สร้างงานที่มีลักษณะแปลก แตกต่าง  และพัฒนาให้เกิด ผลงานที่ดีขึ้นต่อไป
  การสร้างสรรค์   
            การสร้างสรรค์ เป็นสิ่งที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ เป็นการดำเนินการในลักษณะต่าง ๆเพื่อให้ เกิดสิ่งแปลกใหม่ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน    สิ่งที่มีชีวิตเท่านั้นที่จะมีความคิดอย่างสร้างสรรค์ได้ ความคิดสร้างสรรค์เป็นความคิดระดับสูง เป็นความสามารถทางสติปัญญาแบบหนึ่ง  ที่จะคิดได้หลายทิศทางหลากหลายรูปแบบโดยไม่มีขอบเขต นำไปสู่กระบวนการคิดเพื่อสร้างสิ่งแปลกใหม่ หรือเพื่อการพัฒนาของเดิมให้ดีขึ้นทำให้เกิดผลงานที่มีลักษณะเฉพาะตน เป็นตัวของตัวเอง อาจกล่าวได้ว่า มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตเพียงชนิดเดียวในโลก ที่มีความคิดสร้างสรรค์ เนื่องจากตั้งแต่ในอดีตที่ผ่านมา มีแต่มนุษย์เท่านั้นที่สามารถสร้างสิ่งใหม่ ๆ ขึ้นมาเพื่อใช้ประกอบในการดำรงชีวิต และสามารถพัฒนาสิ่งต่าง ๆให้ดีขึ้นกว่าเดิม รวมถึงมีความสามารถในการพัฒนาตน พัฒนาสังคม พัฒนาประเทศ  และรวมถึงพัฒนาโลกที่เราอยู่ให้มีลักษณะที่เหมาะสมกับมนุษย์มากที่สุด  ในขณะที่สัตว์ชนิดต่าง ๆ   ที่ มีวิวัฒนาการมาเช่นเดียวกับเรายังคงมีชีวิตความเป็นอยู่แบบเดิมอย่างไม่มี การเปลี่ยนแปลงมากกว่าครึ่งหนึ่งของการพบที่ยิ่งใหญ่ของโลกได้ถูกกระทำขึ้น มาโดยผ่าน "การค้นพบโดยบังเอิญ" หรือการค้นพบบางสิ่งขณะที่กำลังค้นหาบางสิ่งอยู่  การพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง การสร้างสรรค์อาจไม่จำเป็นต้องยิ่งใหญ่ถึงขนาดการพัฒนาบางสิ่งขึ้นมาให้กับ โลกแต่มีอาจเกี่ยวข้องกับพัฒนาการบางอย่างให้ใหม่ขึ้นมา อาจเป็นสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อตัวของเราเอง เมื่อ เราเปลี่ยนแปลงตัวเราเอง เราจะพบว่าโลกก็จะเปลี่ยนแปลงไปพร้อมกับเรา   และในวิถีแห่งการเปลี่ยน
 แปลงที่เราได้มีประสบการณ์กับโลก  ความคิดสร้างสรรค์จึงมีความหมายที่ค่อนข้างกว้างและสามารถนำไปใช้ประโยชน์กับการผลิต การสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ    กระบวนการวิธีการที่คิดค้นขึ้นมาใหม่เราคาดหวังว่าความคิดสร้างสรรค์จะช่วยให้การดำเนินชีวิตและสังคมของเราดีขึ้นเราจะมีความสุข
 มากขึ้น โดยผ่านกระบวนการที่ได้ปรับปรุงขึ้นมาใหม่นี้ทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ

จุดม่งหมายของการสร้างสรรค์
            งานศิลปะโดยเฉพาะงานศิลปะสมัยปัจจุบัน ศิลปะจะสร้างสรรค์งานศิลปะในรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้นทำให้มีขอบข่ายกว้างขวางมาก แต่ไม่ว่าจะเป็นไปในลักษณะใดก็ตาม  งานศิลปะทุกประเภท จะให้คุณค่าที่ตอบสนองต่อมนุษย์ ในด้านที่เป็นผลงานการแสดงออกของอารมณ์ ความรู้สึกและความคิด  เป็นการสื่อถึงเรื่องราวที่สำคัญ หรือเหตุการณ์ที่ประทับใจ  เป็นการตอบสนองต่อความพึงพอใจ ทั้งทางด้านจิตใจและความสะดวกสบายด้านประโยชน์ใช้สอยของศิลปวัตถุ
องค์ประกอบของการสร้างสรรค์งานศิลปะ
           การสร้างสรรค์จะประสบความสำเร็จเป็นผลงานได้นอกจากต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์  เป็นตัวกำหนดแนวทางและรูปแบบแล้ว ยังต้องอาศัยสามารถที่ยอดเยี่ยมของศิลปิน ซึ่งเป็นความ สามารถเฉพาะตน เป็นความชำนาญที่เกิดจากการฝึกฝนและความพยายามอันน่าทึ่ง เพราะฝีมืออัน เยี่ยมยอดจะสามารถสร้างสรรค์ผลงานที่มีความงามอันเยี่ยมยอดได้ นอกจากนี้ยังต้องอาศัยวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ มาใช้ในการสร้างสรรค์ด้วยเช่นกัน วัสดุอุปกรณ์ในการสร้างสรรค์ แบ่งออกเป็นวัตถุดิบที่ใช้เป็นสื่อในการแสดงออก  และเครื่องมือที่ใช้สร้างสรรค์ให้เกิดผลงาน ตามความชำนาญของศิลปินแต่ละคน  แนวทางในการสร้างสรรค์งานศิลปะของศิลปินแต่ละคน อาจมีที่มาจากแนวทางที่ต่างกัน  บางคนได้รับแรงบันดาลใจจากความงาม  ความคิด  ความรู้สึก  ความประทับใจ แต่บางคนอาจสร้างสรรค์งานศิลปเพื่อแสดงออกถึงฝีมืออันเยี่ยมยอดของตนเอง เพื่อประกาศความเป็นเลิศอย่างไม่มีที่เปรียบปานโดยไม่เน้นที่เนื้อหาของงาน   และบางคนอาจสร้างสรรค์งานศิลปะจากการใช้วัสดุที่สนใจ  โดยไม่เน้นรูปแบบและแนวคิดใด ๆ เลยก็ได้

สรุป

            ศิลปะเป็นสิ่งที่อยู่รอบตัวมนุษย์  เป็นสิ่งที่ให้คุณค่ามหาศาลทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ  ศิลปะที่ให้คุณค่าทางร่างกายเป็นศิลปะที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิตประจำวันของมนุษย์  เป็นสิ่งที่มนุษย์พบเห็นเข้าใจและเห็นคุณค่าคุณประโยชน์ได้อย่างเป็นรูปธรรม  แต่ศิลปะที่ให้คุณค่าทางจิตใจเป็นงานศิลปะที่มีคุณค่าในการพัฒนามนุษย์  ให้มีความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข การนำศิลปะไปใช้ในการดำรงชีวิตไปใช้ในการพัฒนาทางด้านจิตใจจำเป็นต้องศึกษาลักษณะของผลงานศิลปะ  และเลือกสรรผลงานที่มีคุณค่าทางสุนทรีย์  จะทำให้ผู้ที่บริโภคผลงานศิลปะได้รับคุณค่าอย่างแท้จริง  ความรู้  ความรัก  ประสบการณ์  เป็นพื้นฐานในการทำความเข้าใจผลงานศิลปะ  ถ้ามนุษย์เปิดโอกาสในการเรียนรู้ผลงานศิลปะแขนงต่าง ๆ ให้มากขึ้น  จะทำให้ศิลปะมีคุณค่ามีการพัฒนาและดำรงคงอยู่กับมวลมนุษย์เพื่อสร้างสรรค์ความสุข  ความสวยงามให้กับโลกมนุษย์ต่อไป
            ศิลปะอาจรวมไปถึงงานในรูปแบบต่างๆเช่น งานเขียน บทกวี การเต้นรำ การแสดง ดนตรี งานปฏิมากรรม ภาพวาด-ภาพเขียน หรือ อื่นๆ อย่างไรก็ตามส่วนใหญ่แล้วศิลปะจะหมายถึงงานทางทัศนศิลป์พวก ภาพวาด-ภาพเขียน งานประติมากรรม งานแกะสลัก รวมถึง Conceptual artและ Installation art

อ้างอิง http://cg1-1.blogspot.com/p/2.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น